Compressed Air Supply System

  • Published 3 year last on Oct 27, 2021

 

ระบบอากาศอัด

(COMPRESSED AIR SYSTEM)


      โดยทั่วไปแล้วโรงงานอุตสาหกรรมนิยมใช้ระบบอากาศอัดในกระบวนการผลิต การทำงานของเครื่องอัดอากาศเริ่มจากดูดอากาศเข้าทางท่อลมเข้า (Air Intake) เพื่อส่งเข้าไปยังเครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) บริเวณทางเข้าเครื่องอัดอากาศจะติดตั้งเครื่องกรองอากาศ กรองสิ่งเจือปนต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับเครื่องอัดอากาศ อากาศที่ผ่านเครื่องอัดอากาศแล้วจะเก็บไว้ในถังเก็บอากาศ ซึ่งมีความดันสูงและมีอุณหภูมิสูง แต่อุณหภูมิจะลดต่ำลงด้วยอุปกรณ์ระบายความร้อนหลังจากอัด (After cooler) ก่อนนำไปใช้งานต่อไป

      อากาศที่มีความดันสูงจะถูกส่งผ่านจากท่อจ่ายอากาศหลัก และแยกไปใช้งานตามจุดต่างๆ ผ่านท่อแยก แต่ก่อนที่อากาศจะเข้าไปยังเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต้องมีการดักและกรองสิ่งที่ปนมากับอากาศ ซึ่งได้แก่ ฝุ่นละออง สิ่งสกปรกจากภายในท่อ และน้ำมันหล่อลื่น โดยใช้อุปกรณ์กรองละอองน้ำและฝุ่น

ประเภทและหลักการทำงานของเครื่องอัดอากาศ

โดยทั่วไปเครื่องอัดอากาศที่นิยมแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1.1 เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ (Reciprocating compressors)
1.2 เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่ (Rotary compressors)
1.3 เครื่องอัดอากาศแบบหมุนเหวี่ยง (Centrifugal compressors)

 

เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ (Reciprocating compressors)

            เครื่องอัดอากาศประเภทนี้ใช้ต้นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ขนาดเล็ก โดยมีสายพานเป็นอุปกรณ์ถ่ายทอดกำลังงานไปสู่เครื่องอัดเพื่อให้ลูกสูบเคลื่อนที่อัดอากาศให้มีปริมาตรเล็กลง และความดันของอากาศสูงขึ้น อากาศอัดจะถูกส่งไปเก็บไว้ในถังลมก่อนที่จะนำไปใช้งานต่อไป เครื่องอัดอากาศประเภทนี้ส่วนใหญ่ จะระบายความร้อนด้วยอากาศ ดังนั้นบริเวณรอบๆเสื้อสูบของเครื่องอัดจึงทำเป็นแผ่นครีบ (vane) เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการระบายความร้อนให้มากยิ่งขึ้น การเคลื่อนที่ของลูกสูบในจังหวะอัดแต่ละครั้งจะทำให้อากาศหรือแก๊สเกิดการอัดตัวขึ้น และการไหลของอากาศอัดจะมีลักษณะเป็นแบบห้วงๆ (pulsation) ไม่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบบท่อส่ง เพราะอาจทำให้เกิดความดันย้อนกลับ ณ จุดที่มีการหักเลี้ยวในระบบท่อส่งได้ ทำให้ท่อส่งได้รับความเสียหายในภายหลัง

     เนื่องจากในอากาศมีความชื้น หรือไอน้ำปะปนอยู่ เมื่ออากาศที่เข้าสู่เครื่องอัดอากาศจึงมีไอน้ำและฝุ่นละอองปะปนเข้าไปด้วย เมื่ออากาศถูกอัดตัว โมเลกุลของอากาศจะเกิดการเสียดสีกันทำให้อากาศที่ถูกอัดมีความร้อนสูงขึ้น อากาศที่ถูกอัดก่อนที่จะถูกนำไปยังถังอัดอากาศจึงต้องมีการระบายความร้อนออก เพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อนซึ่งจะทำให้ชิ้นส่วนภายในเครื่องอัดอากาศได้รับความเสียหายได้ เมื่ออากาศอัดภายในถังอากาศเย็นตัวลงจะทำให้ไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำอยู่ในถังอัดอากาศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ในขณะที่นำอากาศไปใช้งาน ดังนั้นจึงต้องมีการระบายน้ำส่วนนี้ออกไปจากถังอัดอากาศ ก่อนที่จะมีการใช้งานอยู่เสมอ

 

 

เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่ (Rotary compressors)

          เครื่องอัดอากาศแบบโรตารีหรือแบบลูกสูบหมุน จะอัดอากาศอันเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ผลักดันของโรเตอร์ในลักษณะการแทนที่ของอากาศ อากาศอัดที่ได้จะมีอัตราการไหลอย่างสม่ำเสมอ แต่ปริมาณอากาศอัดที่ได้จะมีค่าความดันค่อนข้างต่ำกว่ามาก การหมุนของโรเตอร์เพื่อ
อัดอากาศจะต้องหมุนด้วยความเร็วรอบที่สูง ซึ่งจะก่อให้เกิดเสียงดังและชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ภายในจะมีอัตราการสึกหรอค่อนข้างสูง เครื่องอัดอากาศประเภทนี้แบ่งเป็นลักษณะย่อยๆ ดังนี้
  • Sliding vane compressors
  • Liquid piston compressors
  • Two –impeller straight – lobe
  • Helical or spiral lobe
        เครื่องอัดอากาศชนิดนี้ จะมีอุปกรณ์ในการอัดอากาศเป็นลักษณะโรเตอร์หมุนอยู่ภายในตัวเรือนเครื่องอัดอากาศจำนวน 2 ตัว ตัวหนึ่งจะเป็นเกลียวตัวผู้ (Helical) จะทำหน้าที่ในการอัดอากาศ อากาศอัดจะเกิดการเคลื่อนที่ ในลักษณะของการแทนที่อย่างต่อเนื่อง

 

เครื่องอัดอากาศแบบหมุนเหวี่ยง (Centrifugal compressors)

          เป็นเครื่องอัดอากาศที่ใช้หลักการทางด้านพลศาสตร์ ทำงานด้วยการเปลี่ยนพลังงานจลน์เป็นความดัน ทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศอัดจะถูกเหวี่ยงตัวออกไปในแนวรัศมี ลมดูดจะเข้าสู่พื้นที่ตรงกลางเพลาใบพัดและถูกเหวี่ยงตัวออกไปในแนวรัศมีของใบพัดสู่ผนังเครื่องอัด และถูกส่งไปตามระบบท่อ อากาศอัดจะมีความดันสูงขึ้นแต่ความเร็วยังคงที่ เมื่อเราต้องการอากาศอัดที่มีค่าความดันสูงมากขึ้น เราสามารถกระทำได้โดยการใช้เครื่องอัดอากาศหลายสเตจ โดยที่อากาศอัดซึ่งได้จากสเตจแรกจะถูกส่งต่อไปยังสเตจต่อไปและอัดอากาศให้ได้ความดันที่ต้องการ อากาศที่อัดได้ในแต่ละสเตจจะมีความร้อนสูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการระบายความร้อนออกจากอากาศอัดก่อนที่จะส่งอากาศอัดไปยังสเตจต่อไป       

                                            

 

 

การควบคุมการทำงานของระบบอากาศอัด (OPERATION CONTROL OF AIR-COMPRESSOR)

    เครื่องอัดอากาศส่วนใหญ่ทำงานต่ำกว่าพิกัดเพราะความต้องการมักจะไม่คงที่ในแต่ละวัน ดังนั้นการควบคุมการทำงานของเครื่องอัดอากาศเพื่อรับภาระที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ประหยัดพลังงานได้ประมาณ 5-20 เปอร์เซ็นของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด หลักเกณฑ์การควบคุมเครื่องอัดอากาศ 3 ประการที่ต้องคำนึงถึงคือ
  • การควบคุมเครื่องอัดอากาศแยกแต่ละเครื่อง
  • การควบคุมเครื่องอัดอากาศแบบหลายเครื่อง
  • การควบคุมระบบเครื่องอัดอากาศโดยรวม

 

แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในระบบอากาศอัด (Guideline for energy conservation in compressed air system)

ประเด็นสำคัญในการอนุรักษ์พลังงานของระบบอากาศอัด

  • คำนวณต้นทุนของอากาศอัด [บาท/Cu.m.] แล้วใช้ต้นทุนนี้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามปริมาณความสิ้นเปลืองอากาศอัดที่แต่ละอุปกรณ์ ในจำนวนต้นทุนนี้จะมีค่าไฟฟ้าของเครื่องอัดอากาศเป็นองค์ประกอบหลัก
  • ปริมาณอากาศขาออกของเครื่องอัดอากาศต่อกำลังขับจำเพาะ โดยทั่วไปจะมีค่าประมาณ 7.5-5.5 [kW/CMM] (ANR) กล่าวคือเท่ากับ 0.13-0.18 [CMM/kW] (ANR) ต่อ 7.5 [kW]
  • เครื่องอัดอากาศขนาดเล็กจะใช้แบบลูกสูบ ขนาดกลางจะใช้แบบสกรู และขนาดใหญ่จะใช้แบบเทอร์โบ เป็นหลัก ประเด็นสำคัญในการเลือกใช้เครื่องปรับอากาศคือ จะใช้แบบใช้น้ำมันหรือไม่ใช้น้ำมัน จำนวนชั้นของการอัดอากาศ การสั่นสะเทือน เสียงดัง และวิธีควบคุม capacity เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภาระ
  • หากมีเครื่องอัดอากาศหลายตัว แล้วใช้วิธีควบคุมจำนวนการเดินเครื่องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภาระ จะทำให้การอนุรักษ์พลังงานใกล้เคียงกับเส้นกราฟกำลังขับในอุดมคติ และในกรณีที่จัดกลุ่มเครื่องอัดอากาศ ไม่ควรให้มีกลุ่มเครื่องอัดอากาศประเภทปริมาตรทดแทนเชิงบวก (Positive Displacement) รวมกับกลุ่มเครื่องอัดอากาศประเภทไดนามิคส์ (Dynamics) เนื่องจากในสภาวะ Unload เครื่องอัดอากาศประเภทปริมาตรทดแทนเชิงบวก จะสร้างความดันอากาศอย่างต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียพลังงานไฟฟ้า
  • สิ่งที่สำคัญคือการอนุรักษ์พลังงานทางด้านผู้ใช้อากาศอัด (การปรับความดันให้เหมาะสม การลดการปล่อยอากาศทิ้งและอากาศรั่ว)

 

แนวทางการเลือกเครื่องอัดอากาศ

  1. เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ เป็นเครื่องอัดอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ยิ่งมีจำนวนขั้น (Stage) เพิ่มขึ้นยิ่งมีประสิทธิภาพสูง ส่วนใหญ่ใช้เพียง 2 ขั้น เครื่องอัดอากาศแบบระบายความร้อนด้วยน้ำจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบเหมาะสมกับการรับโหลดที่ไม่สม่ำเสมอได้ดี เนื่องจากมีอุปกรณ์ Un-load ที่ดี การใช้อุปกรณ์ Un-load น้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องแบบอื่นๆ การควบคุมยังสามารถทำเป็นแบบ multi step ในช่วงการเดิน Part load จะให้ประสิทธิภาพดี
  2. เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่สกรู เป็นเครื่องที่มีความสึกหรอน้อยเนื่องจากตัวสกรูไม่ได้สัมผัสกัน การอัดอากาศมีประสิทธิภาพพอสมควรแต่โครงสร้างเป็นตัวสกรูกำหนดให้มีอัตราส่วนความดันคงที่ เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่สกรูเหมาะกับการรับโหลดเต็มพิกัดและสม่ำเสมอ จึงจะให้ประสิทธิภาพที่ดีได้
  3. เครื่องอัดอากาศแบบหอยโข่ง เป็นเครื่องอัดอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงพอควรเหมาะกับระบบที่ความต้องการอากาศมาก

 

 

 

Some Questions

PAIN POINT

การประหยัดพลังงานของระบบอากาศอัดประกอบด้วย การออกแบบระบบที่ดี การเลือกใช้ประเภทและขนาดให้เหมาะสม ขนาดของถังเก็บอากาศมีปริมาณที่เพียงพอกับลักษณะงาน ขนาดของท่อเมนต้องโตพอที่ทำให้ความเร็วของอากาศไม่สูงเกินไปจนทำให้เสียความดันในการใช้งานและมีการบำรุงรักษาที่ดี

หากต้องการคำแนะนำทางด้านการจัดการต่างๆที่เกี่ยวข้อง
กรุณาติดต่อ